วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จังหวะในการลงทุน

วันนี้พยายามมานั่งนึกถึงการลงทุนในอดีต นับเฉพาะครั้งที่ได้โฮมรัน ก็นึกถึง it, scnyl, pdi, pb, hmpro, cpf แล้วนึกว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ได้โฮมรัน สำหรับ it, pb, hmpro ก็จำได้ว่า ตอนที่ลงทุนนั้น มันดีอยู่แล้ว คือกำไรมันโตพรวดพราดอยู่แล้ว แต่ราคามันยังต่ำ ไม่ว่าจะดูจากพีอี หรือ ปันผล หรือ จะทำ dcf มันชัดเจนว่ากำไรโต ราคายังไม่ไปไหน ส่วน pdi นั้นเป็นการเก็งว่าราคาสังกะสีจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ cpf ก็เข้าไปซื้อตอนมันตกต่ำ เพราะเก็งว่ามันเป็นวัฏจักร เดี๋ยวมันก็กลับมา ส่วน scnyl นั้นตอนซื้อครั้งแรกนั้น ธุรกิจเค้ามีการเปลี่ยนแปลง จากขายประกันกิ๊กก็อก เป็นขายในแบงค์ไทยพาณิชย์ เราก็คาดว่ามันต้องกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ แล้วก็ถือมาเรื่อย จนมันกำไรโตให้เห็น แล้วราคาหุ้นก็ขึ้นมาตามปัจจัยต่างๆ
แล้วพอมานั่งคิดทบทวนว่าการลงทุนในหุ้นชั้นดี ที่กำไรโตให้เห็นแล้ว แต่ราคายังถูกอยู่นั้น ให้ผลตอบแทนที่ดี ในเวลาไม่นาน แล้วก็ไม่เหนื่อยด้วย ไม่ต้องเก็งโน่น นี่ นั่น แค่ซื้อ แล้วถือไปเรื่อยๆ เมื่อมานับๆดู การลงทุนที่ดี โอกาสที่ดีจริงๆแบบนี้ ในรอบห้าปีมีถึง ห้าครั้ง ที่เราสามารถเข้าใจได้ สามารถลงทุนได้ แต่เราก็เก็บเกี่ยวได้ไม่หมด เช่น it ตอนนั้นมีน้อยไป hmpro ไม่กล้าซื้อเพิ่ม scnyl ก็เสียดายที่ขายไปตอน 70-80 แต่ก็ยังดีที่ได้ถือ pb ในจำนวนค่อนข้างมาก เลยได้ผลตอบแทนที่ดี โอกาสอื่นๆนั้น มาพร้อมกับราคาที่สูงแล้ว แม้มันจะสูงขึ้นอีกมาก เราก็ไม่กล้าแล้ว นี่คงเป็นสิ่งที่วอร์เรนเรียกว่า waiting for the perfect pitch
โอกาสงามๆนี้มีถึงห้าครั้ง ที่เราเข้าใจได้ แต่มาในแค่สองช่วงเวลา คือ ปี47 กับปี51 ต้องรอกันถึงสี่ปีทีเดียว แต่ถ้าเราทำการบ้านดีๆ คิดว่าน่าจะมีโอกาสมากกว่านี้ แต่แค่เราตีเฉพาะลูกที่อยู่ในโซนตีลูก สองครั้งนี้ก็ได้ผลตอบแทนเกินห้าเท่าตัวแล้ว ต่อไปนี้ก็จะเน้นอยู่แค่ในหุ้นที่เราเข้าใจได้ และลงทุนในเวลาที่สมบูรณ์แบบ
มีหลายครั้งมากที่กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น แต่ราคาพุ่งไปก่อนแล้ว เพราะเรามีนักลงทุนที่เก่งกาจ ผู้มองอนาคตได้แม่นยำ ทำให้โอกาสในการลงทุนของเราน้อยลงไป แต่การพยายามเข้าไปแข่งกับคนเหล่านี้ก็เหมือนการไปแข่งบาสกับโคบี้ ไบรอัน เราคงได้รับแต่ความพ่ายแพ้กลับมา แต่หวังว่า ในอีกห้าปีข้างหน้า จะมีวันที่ตลาดขาดประสิทธิภาพอีกสักปีละครั้งก็พอครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น