วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“ฟาร์มเฮ้าส์” ทุ่ม500ล.รับแรงซื้อฟื้น เพิ่มหน่วยรถ-เอาท์เล็ท-กำลังผลิต

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 ธันวาคม 2553 00:07 น.


“ฟาร์มเฮ้าส์” เดินเกมรุกปี 54 รับกำลังซื้อฟื้น ทุ่ม 500 ล้านบาท เพิ่มหน่วยรถ-เอาท์เล็ท-กำลังผลิต หวังดันรายได้ทะลุ 5,300 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีนี้ที่รายได้เติบโต 17% ยังอั้นไม่ปรับราคาสินค้าตามวัตถุดิบ เผยธุรกิจร่วมทุนร้านอาหารญี่ปุ่นซาโบเตนไปได้สวย

นายอภิชาติ ธรรมมโนมัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ ฟาร์มเฮ้าส์ เปิดเผยว่า บริษัทฯวางแผนลงทุนในปีหน้า (2554) ไว้แล้ว เพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว รวมทั้งกำลังซื้อที่จะมีมากขึ้น จากการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ หลังจากที่ปีนี้ได้ลงทุนเพิ่มไปแล้ว 500ล้านบาทในการเพิ่มกำลังผลิตสร้างโรงงานที่โนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เพิ่มการผลิตขนมปังปอนด์ 1 ไลน์ผลิต เค้ก 2 ไลน์ผลิต และ โดรายากิ 2 ไลน์ผลิต ซึ่งจะเสร็จต้นปีหน้า

โดยปีหน้าจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ในการเพิ่มหน่วยรถอีกกว่า 100 คัน ลงทุนด้านไอที การเพิ่มคลังสินค้า และจุดขายเป็น 38,000 เอาท์เลท หลังจากที่ปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 35,000 เอาท์เลท จากปีที่แล้วที่มี 32,000 เอาท์เลท รวมทั้งการเพิ่มกำลังผลิตอีกประมาณ 25% ที่บางชันเพื่อรองรับปีถัดไป ซึ่งจะทำให้มีสินค้ามากเพียงพอต่อการป้อนตลาดและผลักดันให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันจะมีการเพิ่มเมนูใหม่ๆออกมาอีกในช่วงครึ่งปีหลังไม่ต่ำกว่า10 รายการ จากปัจจุบันที่มีประมาณ 150 รายการแล้ว ซึ่งเมนูใหม่ที่วางตลาดปีนี้มียอดขายดีคือ เดลี่แซนด์วิช และโฮลวีตบดละเอียด ที่เดิมขาย 12 บาท ได้ลดลงเหลือ 10 บาท ก็ขายดีมากขึ้น

สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวม 4,580 ล้านบาท เติบโต 17% ในแง่รายได้ และเติบโต 20% ในแง่ปริมาณ จากเดิมที่ตั้งเป้าปีนี้เติบโตที่ 12% ขณะที่ปีที่แล้วเติบโตเฉลี่ย 16% และคาดว่าจากการวางแผนการลงทุนและการรุกตลาดหนักในปีหน้าจะทำให้มีรายได้รวมเพิ่มเป็นประมาณ 5,300 ล้านบาท เติบโต 15% โดยสัดส่วนรายได้มาจากในกรุงเทพฯ 40% และต่างจังหวัด 60%

อย่างไรก็ตาม นายอภิชาติ ยอมรับว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แป้ง น้ำมัน แต่ก็ยังอยู่ในภาวะที่บริษัทฯพอรับได้ จึงยังไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นเวลานี้ ส่วนผลจากการเปิดเสรีนั้นก็มีผลไม่มากนัก เนื่องจากว่า สัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศน้อยมากแค่ 5% เช่น ถุงบรรจุมาจากมาเลเซีย ยีสต์มาจากเวียดนาม เป็นต้น ขณะที่กว่า 95% ของวัตถุดิบใช้ในไทย

นายอภิชาติ กล่าวถึงธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นด้วยว่า ได้ร่วมทุนกับบริษัท กรีนเฮ้าส์ จำกัด จากญี่ปุ่น ตั้งบริษัท เพรซิเดนท์ กรีนเฮ้าส์ ฟู้ดส์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ไทยถือหุ้น 51% ญี่ปุ่น 49% เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น “ชินจูกุ ทงคัทสึ ซาโบเตน” เปิดสาขาแรกที่อิเซตัน ลงทุน 12 ล้านบาท เมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงทดลองตลาด ยอดขายปีแรก 40 ล้านบาท ปีนี้ 20 ล้านบาท เพราะผลกระทบจากปัญหาการชุมนุม แต่ภาพรวมไปได้ดี

ขณะนี้จึงขยายสาขาที่สองที่ดิเอ็มโพเรียม และกุมภาพันธ์ปีหน้าเปิดที่สยามพารากอน ลงทุน 7 ล้านบาทโดยเฉลี่ย ต่อสาขา เน้นเมนูหมูทอดทงคัตซึเป็นหลัก กลุ่มลูกค้าคนไทย 85% คนต่างชาติ 15% ถือเป็นการร่วมทุนครั้งแรกของบริษัทฯ และไทยเป็นประเทศที่สามที่ร่านดังกล่าวนี้ออกนอกญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้คือที่ เกาหลีและไต้หวัน

เป็นข่าวท่ีดีของ PB มีความเคล่ือนไหว ทั้งการลงทุนเพ่ิมและธุรกิจร้านอาหารญ่ีปุ่น

ไอทีซิตี้ทุ่ม48ล.ตั้งบริษัทร่วมทุน ขยายไลน์ขาย"ไอโฟน-ไอแพด"

"ไอทีซิตี้" ขยายฐานธุรกิจประกาศร่วมทุน "เอสพีวี แอ๊ดวานซ์" ตัวแทนจำหน่ายสินค้า "แอปเปิล" เปิดช่องรับสิทธิ์ขายสินค้าของแอปเปิลทุกประเภทรวมทั้ง ไอโฟนและไอแพดในไอทีซิตี้ทุกสาขาทั่วประเทศ ดีเดย์ไตรมาส 2 ปีหน้า

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทได้อนุมัติการลงทุนในบริษัทร่วมทุนจัดตั้งใหม่ "บริษัทร่วมทุน" ในวงเงินรวม 48 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 40% ของทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท โดยบริษัทร่วมทุนจะประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องประเภทไอทีภายใต้ แบรนด์แอปเปิล ผ่านการเปิดร้าน I Studio, U Store และช่องทางการจัดจำหน่ายอื่น ๆ โดยสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทร่วมทุนประกอบด้วย ไอทีซิตี้ 40% บริษัท เอสพีวี แอ๊ดวานซ์ จำกัด 30% นายนราธร วงศ์วิเศษ 10% นางสาวพัชรา เกียรตินันทวิมล 10% นางเพ็ชรรัตน์ วรญาณโกศล 5% นายไตรสรณ์ วรญาณโกศล 5%

ทั้งนี้สำหรับบริษัทเอสพีวีฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล โดยปัจจุบันมีร้านไอสตูดิโอให้ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ อาทิ เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ, ซีคอนสแควร์, ไอทีมอลล์ ฟอร์จูน และเอสพลานาด รวมทั้งร้านยูสโตร์ อยู่ในมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตและท่าพระจันทร์, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตบางนาและหัวหมาก รวมถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลประโยชน์ที่ "ไอทีซิตี้" จะได้รับ นอกเหนือจากเงินปันผลจาก บริษัทร่วมทุนแล้ว ทางไอทีซิตี้จะได้รับสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องประเภทไอทีภายใต้แบรนด์แอปเปิล ในสาขาของไอทีซิตี้ด้วย

นายเอกชัย ศิริจิระพัฒนา กรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท ไอทีซิตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารไอทีซิตี้ซูเปอร์สโตร์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สิ่งที่ไอทีซิตี้ได้รับจากการร่วมทุน คือได้สิทธิ์ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของแอปเปิล ทุกประเภท ทั้งคอมพิวเตอร์แมคบุ๊ก ไอแมค รวมทั้งไอโฟน ไอแพดและแอ็กเซสซอรี่ ต่าง ๆ ในไอทีซิตี้ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของไอทีซิตี้ ที่จะเป็นศูนย์รวมด้านผลิตภัณฑ์ไอทีแบบวันสต็อปช็อปปิ้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ

โดยจะเริ่มวางจำหน่ายสินค้าของแอปเปิลในไอทีซิตี้ช่วงไตรมาส 2 ปี 2554 ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นที่ไหนบ้าง เบื้องต้นจะเสนอสาขาที่จะทำตลาดให้ทางบริษัท แอปเปิล ไทยแลนด์ พิจารณา 10 แห่งซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯทั้งหมด

นายเอกชัยกล่าวว่า สำหรับไอทีซิตี้ปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 42 สาขา โดยตั้งเป้าปีหน้าขยายเพิ่มอีก 8 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสาขาในต่างจังหวัด และคาดว่าปีหน้ารายได้จะมีการเติบโตมากกว่า 10% โดยในปี 2554 บริษัทยังคงมีการเพิ่มสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งการเพิ่ม แบรนด์ใหม่อย่างแอปเปิล หรือการเพิ่มไลน์สินค้าในแบรนด์ที่ทำตลาดอยู่แล้ว เช่นใน ปีหน้าจะมีสินค้าประเภทแท็บเลตจาก แบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาทำตลาดมากขึ้น รวมถึงในส่วนของการขยายธุรกิจบริการ ที่ได้ร่วมกับ บมจ.เอสวีโอเอเปิดศูนย์บริการ iFIX ในไอทีซิตี้ทุกสาขารองรับการให้บริการสินค้าไอที 13 แบรนด์ดัง