เมื่อประมาณ 13 ปีที่แล้ว บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ซื้อกิจการปลาทูน่ายักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน Chicken of the Sea แล้วก้าวขึ้นมาติดอันดับธุรกิจปลาทูน่าของโลก และล่าสุดพวกเขาซื้อกิจการ MW Brand Holdings S.A.S หรือ MW Brand (MWB) แล้วก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งแห่งธุรกิจปลาทูน่าโลก
MW Brands ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าและอาหารทะเลในตลาดยุโรป ภายใต้แบรนด์ John West, Petit Navire, Hyacinthe Parmentier และ Mareblu ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำในตลาดฝรั่งเศส อังกฤษ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี
ปัจจุบัน MWB ถือครองโดย Trilantic Capital Partners ซึ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคล โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการถึง 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ Trilantic ได้เข้าซื้อ MWB จาก HJ Heinz ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานล่าสุด (31 มีนาคม 2553) MWB มียอดขายสูงถึง 448 ล้านยูโร โดยมูลค่าของสินทรัพย์เท่ากับ 559 ล้านยูโร
สำหรับการเข้าลงทุนใน MWB นั้น TUF จะเข้าลงทุนเต็ม 100% มูลค่า 680 ล้านยูโร หรือประมาณ 28,495 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ TUF กลายเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะสามารถแปรรูปวัตถุดิบปลาทูน่าได้ถึง 500,000 ตันต่อปี
อีกทั้ง TUF จะเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทอาหารทะเลที่มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วโลก และผลจากการนี้ก็จะทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายของกระบวนการผลิตทั้งหมดเข้าไว้ด้วย คือ ตั้งแต่การผลิต การขาย การกระจายสินค้า และการมีแบรนด์ชั้นนำในเอเชีย อเมริกา และยุโรป ปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายที่มาจากตลาดยุโรป 11% ของสัดส่วนยอดขายทั้งหมด
“การรวมกันในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน สามารถสร้างกลยุทธ์ด้านการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำทางด้านอาหารทะเลของโลกที่สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตและตลาดผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว” ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร TUF เล่า
ด้านอุษณีย์ ลิ่มรัตน์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส มองว่าการที่ TUF ซื้อกิจการ MWB จะเป็นผลบวกน่าประทับใจ และคาดหมายว่าศักยภาพการทำกำไรในแง่ของ Gross margin จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากเป็นการควบรวมกิจการกับบริษัทที่มีศักยภาพการทำกำไรที่สูงกว่า TUF ทั้งนี้ EBITDA margin ของ MWB เฉลี่ยในปี 2552/53 เท่ากับ 18.5% สูงกว่า TUF ที่อยู่ระดับเพียง 8.5% โดย TUF มีแผนที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์จากแบรนด์ของ MWB ในการเจาะตลาดและขยายฐานรายได้มากขึ้นในทวีปยุโรป
อีกทั้งการใช้จุดแข็งจากการที่มีแหล่งวัตถุดิบที่อยู่ใจกลางแหล่งจับปลาทูน่าที่ใหญ่สุดของโลกทั้งในมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการจับปลาทูน่าลงได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการประหยัดภาระภาษี ทั้งภาษีนำเข้าทวีปยุโรป (Import tariff tax) ที่ระดับ 24% และภาษีเงินได้ฯ ทั้งในกานา และซีเชลส์ (Seychelles) ที่ระดับ 4% และ 0% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การผนึกพลังทางธุรกิจจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า แต่เนื่องจาก TUF ได้เข้าซื้อกิจการด้วยการก่อหนี้เกือบ 100% และส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยราว 7% โดยในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเป็นทิศทางขาขึ้น จึงเกิดความกังวลกับภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะไปหักล้างกับผลบวกของการผนึกพลังทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจนแทบจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการทำกำไรที่สูงขึ้นของ TUF ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
“การเพิ่มภาระหนี้ระดับสูงจนทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อ EBITDA สูงแตะระดับ 4.25 เท่า
จะทำให้ TUF ต้องลดระดับการจ่ายเงินปันผลในแต่ละปีลงเหลือราว 33% ของกำไรสุทธิ จากเดิม 50% ซึ่ง TUF ได้ยืนยันเกี่ยวกับแผนการลดภาระหนี้สินว่าจะใช้ระยะเวลาภายใน 3 ปี หรือราวปี 2556 จึงจะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลได้ที่ระดับปกติได้เช่นเดิม” อุษณีย์ ทิ้งท้าย
จากคอลัมน์ Corporate Strategy โดย ฐิติเมธ โภคชัย นิตยสาร M&W กันยายน 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น